Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โรงเรียนรุ่งอรุ่ณ

การจัดการความรู้ในโรงเรียนรุ่งอรุณ
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช (20 พ.ค.48)

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.48 ผมไปประชุมใหญ่ประจำปีของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ มูลนิธินี้มี
ศ.นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการ
ตัวโรงเรียนมี รศ. ประภาภัทร นิยม เป็นผู้อำนวยการ นอกจากโรงเรียนแล้วทางมูลนิธิกำลังก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษา ชื่อว่า สถาบันอาศรมศิลป์ ผมฟังรายงานกิจกรรมทั้งของโรงเรียนและของสถาบันก็ถึงบางอ้อ ว่าคนกลุ่มนี้กำลังดำเนินการจัดการความรู้อย่างขะมักเขม้นและสภาพขององค์กรเป็นองค์กรเรียนรู้อย่างชัดเจน เรามีองค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นตัวอย่างอีก 1 แห่งแล้วนะครับ โรงเรียนอื่น ๆ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เน้นที่การ สอนละเลยการเรียนหรือไม่จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนไม่ออกแบบการเรียน นี่คือจุดอ่อนในวงการศึกษา ที่ รร.รุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์ภายใต้การนำของ รศ.ประภาภัทร เข้ามา ทดลองปิดช่องว่างนี้ให้แก่สังคมไทย ผมใช้คำว่า ทดลองก็เพราะทีมงานของ ร.ร.รุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์มีท่าที สงสัยหรือ ตื่นตัว เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ผมจะลองตีความว่า ร.ร. รุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ออกแบบการเรียนรู้อย่างไร บางท่านอาจเรียกว่าทำวิจัยก็ได้

(1) ครูร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของนักเรียน
การเรียนรู้ในแต่ละปีการศึกษาจะไม่เหมือนกัน ที่จริงผมเดาว่าลึก ๆ แล้วมีส่วนที่เหมือนมากกว่าไม่เหมือน ส่วนที่เหมือนคือสาระ ส่วนที่ต่างคือวิธีการ การที่ครูทุกคนต้องร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นทีม ๆ นี้ มองในมุมหนึ่งก็คือ Team Learning นั่นเอง เรียนการเรียนรู้ของทีมครู โดยอาศัยการปฏิบัติงานประจำของตน คือทำให้การปฏิบัติงานประจำเป็นการเรียนรู้ ผมได้ยินมาว่าตอนตั้ง รร. รุ่งอรุณใหม่ ๆ ครูทนไม่ไหว ลาออกไปหลายคน แต่ตอนนี้ครูมีทักษะนี้แล้ว กลายเป็นสภาพการทำงานที่สนุก เพราะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือช่วยกันคิด ท่านที่ต้องการเห็นร่องรอยการออกแบบการเรียนรู้ของนักเรียนต้องไปอ่านเอกสารเผยแพร่ของ รร. รุ่งอรุณ ที่ทำออกมาเป็นระยะ ๆ หรือต้องไปสัมผัสโดยตรงจะยิ่งดี

(2) เรียนรู้ทั้งจากตำราและจากของจริง เหตุการณ์จริง เอกสาร
บทสรุปการดำเนินงานกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ โครงการร่วมมือ...สานฝัน...อันดามัน...ฟื้น ระหว่างเดือนมกราคม พฤษภาคม 2548 มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณผสานกับคำอธิบายของ รศ. ประภาภัทร ทำให้ผมเห็นว่า ร.ร.รุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์ใช้การเข้าไปดำเนินการ ร่วมมือ สานฝันกับผู้ประสบภัยสึนามิเป็น ห้องปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้จากสภาพชีวิตจริงของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนที่ประสบความทุกข์ยากจากภัยพิบัติ เมื่อเข้าไปเรียนแล้วก็ถ่ายทอด Tacit knowledge ของแต่ละคนออกมาเป็นบันทึก มีการรวบรวมสรุป นำมาร่วมกันตีความและต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง เท่ากับเป็นการหา กิจกรรมให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน

(3) เรียนรู้จากทุกกิจกรรมที่ตนดำเนินการ
อาศรมครูรุ่งอรุณ (
Teacher Training Centre) ซึ่งผมแนะนำให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Teacher Learning Centre เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าการพัฒนาบุคลากรขององค์กรควรใช้ learning mode ไม่ใช่ training mode ความมีชื่อเสียงของวิธีการจัดการเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ ทำให้หลายโรงเรียนมาดูงานและต้องการฝึกฝนวิธีการเพื่อนำไปปฏิบัติในโรงเรียนของตน ที่น่าสนใจที่สุดคือเทศบาลนครขอนแก่น ผู้บริหารตั้งแต่นายกเทศมนตรีลงมา มีความเอาจริงเอาจังในการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน 11 แห่งในสังกัดมาก และศรัทธาในวิธีการแบบรุ่งอรุณ ถึงขนาดมีการลงนามในสัญญาความร่วมมือจัดการฝึกอบรมครูในสังกัด โดยสถาบันอาศรมศิลป์ให้บริการการฝึกอบรมเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ในกิจกรรมนี้อาจารย์ของสถาบันก็สั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการให้บริการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครู รศ. ประภาภัทรกล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นแหล่งรายได้ที่ดีช่องทางหนึ่งของสถาบันฯ และเป็นกิจกรรมที่ทำให้อาจารย์ของสถาบันเกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

(4) มีการจดบันทึก สำหรับเก็บไว้ใช้งานต่อ
กรณีอาศรมครูรุ่งอรุณมีเอกสารกองทุนอบรมสัมมนาจดบันทึก tacit knowledge ที่เกิดขึ้นจากการอบรม คือจดไว้ในรูปของคำพูดของคนที่ผ่านเหตุการณ์มา ทีมงานของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณดูจะเก่งเป็นพิเศษในการจัดการ ความรู้แบบฝังลึกนี้ โรงเรียนรุ่งอรุณจัดการความรู้ลึกมาก โดยจุดสำคัญคือจัดการความรู้ไว้ใช้เอง ไว้พัฒนากิจการของตนเอง ผลที่เห็นคือผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการต่อยอดความรู้จากนักเรียนรุ่นก่อน ๆ

(5) มีการนำความรู้กลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิลความรู้
ทำให้ทั้งครูและนักเรียนของโรงเรียนรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์เก่งขึ้นเรื่อย ๆ มีผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการ ต่อยอดจากทั้งความรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และจากประสบการณ์ของคนอื่น

ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช 13 พ.ค.48
จาก เว็บไซต์ http://blog-for-thai-km.blogspot.com/2005/05/blog-post_20.htmlหรือ www.kmi.or.th ของ สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น